โรคที่มากับหน้าฝน
จากการที่ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ปี 2567 แล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา สำหรับปริมาณฝนโดยรวมใกล้เคียงปีที่แล้ว ปลาย พ.ค.-กลาง มิ.ย. มีฝนเพิ่มมากขึ้นและตกต่อเนื่อง เดือน ส.ค.-ก.ย. ฝนตกชุกหนาแน่น จากสภาพอากาศดังกล่าวทำให้เรามีความจำเป็นต้องทราบว่ามีโรคอะไรบ้างที่มากับหน้าฝนนี้ เพื่อที่จะได้เตรียมการป้องกันและดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกันครับ
1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ
กลุ่มโรคนี้จะพบได้มากที่สุดในช่วงหน้าฝน สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการได้รับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายมาก ผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อไวรัส หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อโรค มีหลายโรคด้วยกัน โดยโรคที่พบบ่อยได้แก่
1.1 โรคไข้หวัด หรือไข้หวัดทั่วไป (Common Cold) พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อกว่า 200 ชนิด อาการสามารถหายได้เองใน 3 – 4 วัน หากผู้ป่วยดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
1.2 โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง คือ ชนิด A และ B ส่วน สายพันธุ์ชนิด C มักไม่รุนแรง
ไข้หวัดใหญ่จะแสดงอาการ ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีกล้ามเนื้ออักเสบ และอาการทางระบบหายใจตั้งเเต่ น้ำมูก ไอมาก หรือ หากรุนเเรง อาจมีอาการหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ เสียชีวิต และอาจมีอาการที่ระบบอื่นอย่างระบบประสาท เช่น ไข้สูงเเล้วชัก ซึม หรือ ไข้สมองอักเสบได้
ขณะนี้ คลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ทุกสาขา มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่ได้รับจาก สปสช.ให้กับ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงฟรีแล้วโดย ต้องเป็นประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ
- ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไตวาย, ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- โรคอ้วน (มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)
ทั้งนี้ สามารถรับวัคซีนได้ทุกสิทธิการรักษา ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ฯลฯ
โดยเริ่มฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2567 เพื่อป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิต
1.3 โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ที่พบโดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumonia หรือเชื้อนิวโมคอคคัส โดยโรคปอดอักเสบนี้จะมักเป็นอาการต่อเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่
2.กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ
โรคติดต่อที่เกิดจากยุง ไม่ว่าจะเป็นยุงลาย ยุงก้นปล่อง ยุงรำคาญ ช่วงหน้าฝนนี้ก็พบมากเช่นกัน ได้แก่
2.1 โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่ระบาดหนักมากในช่วงฤดูฝน โดยมีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกปี โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาการของโรคไข้เลือดออกแม้จะไม่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
2.2 โรคชิคุนกุนยา – โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แม้กระทั่งในเด็กเล็ก โรคนี้จะมีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก
2.3 โรคไข้มาลาเรีย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ไข้ป่า” มียุงก้นปล่องเป็นหาพะโดยมีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่แถวๆ บริเวณเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยอาการโรคมาลาเรียผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการภายใน 10 – 28 วัน หลังจากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการแม้จะติดเชื้อหลายเดือนแล้วก็ตาม
2.4 โรคไข้สมองอักเสบเจอี เกิดจากเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง มี “ยุงรำคาญ” เป็นพาหะ ยุงชนิดนี้มักแพร่พันธุ์ในนาข้าว พบมากที่สุดในประเทศไทย ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังได้รับเชื่อ 5-15 วัน โดยระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน เวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ในช่วงที่อาการรุนแรง เป็นช่วงที่อาจเสียชีวิตได้ จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติลดลง เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ และเป็นอัมพาตในที่สุด
2.5 โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า (Zika Fever) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา ที่มียุงลายเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรงในคนปกติ แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่ส่งผลให้ทารกมีภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ทำให้ทารกมีกะโหลกศีรษะและสมองที่เล็กกว่าปกติ ส่วนในรายที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคไข้ซิกาส่วนใหญ่ป่วยแล้วสามารถหายได้เอง โดยหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการเหล่านี้จะทุเลาเลงภายในเวลา 2–7 วัน
3.โรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและสามารถพบโรคมือ เท้า ปากในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก เป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
4.กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำดื่มและอาหาร
สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนเชื้อโรคทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้
4.1 โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เกิดจากการที่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค การไม่ล้างมือให้สะอาด ใช้มือหยิบจับของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก ส่งผลให้เกิดภาวะถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งติดต่อกัน หรือมากกว่าใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก และอาจมีอาเจียนร่วมด้วย
4.2 โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรีย หรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำที่มีการปนเปื้อน โดยผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระบ่อยหรือมีมูกเลือดปน และมักมีไข้
4.3 โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ และอาจมีไข้ ปวดศีรษะด้วย
4.4 โรคตับอักเสบ เป็นภาวะที่ตับมีอาการอักเสบ และติดเชื้อ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับอักเสบชนิด A B C D และ E โดยจะมีลักษณะการติดต่อที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ โดยอาการตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาบางอย่าง เป็นต้น
5.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล และเยื่อบุผิวหนัง
5.1 โรคฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีหนูหรือสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะหลัก เชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะที่ปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก
5.2 โรคตาแดง – โรคเยื่อบุตาอักเสบ ส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัส หรืออาจเกิดจากการเด็กมีโรคประจำตัวอื่นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ ทำให้มีอาการคันตา ขยี้ตาบ่อยๆ จนเกิดอาการตาอักเสบ และติดเชื้อตาม สำหรับคุณพ่อคุณแม่เมื่อพบว่าลูกเป็นตาแดง ควรรีบพาไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาทาหรือหยอดตาเอง
เมื่อเราทราบกันแล้วนะครับว่ามีโรคอะไรบ้างที่มากับหน้าฝน คราวนี้เรามาทราบวิธีการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคกันครับ 4 วิธี ดูแลตัวเองช่วงหน้าฝน
- ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- โดยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเช่น มะขามป้อม ฝรั่ง ลิ้นจี่ มะละกอสุก เงาะ ส้มโอ อย่างไรก็ตามพบว่า อาจนำมาทำเป็นเมนูน้ำปั่นก็จะสามารถรับวิตามินได้เต็มที่พร้อมรสชาติที่อร่อยอีกด้วย
- การทานวิตามินซีที่เป็นอาหารเสริม เป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยทานผักผลไม้ โดยมีทั้งรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือเม็ดฟู่ละลายน้ำ ถ้าทานครบปริมาณที่แพทย์แนะนำจะสามารถลดความรุนแรงของการเป็นหวัดลงได้ และยังทำให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย
- ในแต่ละวันควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงแล้วแต่บุคคล เพราะการนอนเป็นช่วงที่ร่างกายได้ฟื้นฟู และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพิ่มภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างได้อย่างดี
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับช่วงวัย และทำต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้งเพียงเท่านี้ก็จะทำให้สุขภาพแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการตากฝนหรือลุยน้ำท่วมขังโดยไม่จำเป็น
- ตอนฝนใกล้ตกสภาพอากาศจะชื้นขึ้นมีลมพัดแรงเป็นเหตุให้เชื้อโรคต่างๆแพร่กระจายในอากาศมากขึ้น หากเราตากฝนแล้วละก็ มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อผ่านทางเดินหายใจส่วนต้นได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะเป็นหวัดได้ง่ายกว่าคนปกติ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรอยู่ในบ้านหรืออาคาร รอจนกว่าฝนจะหยุดจึงค่อยออกมา รวมถึงการเดินลุยน้ำที่ท่วมขังที่ชะเอาสิ่งสกปรกรวมถึงอาจปนเปื้อนเชื้อโรคเช่นโรคฉี่หนูมาด้วย ฉะนั้นการหลีกเลี่ยงการตากฝนและการเดินลุยน้ำท่วมขังจึงช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
- การปฏิบัติตัว หากตากฝนหรือลุยน้ำท่วมขัง เมื่อถึงบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผม หลังจากนั้นเช็ดตัวและเป่าผมให้แห้งสนิทเพื่อกำจัดความชื้นออกไป อาจดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ หรือแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น เป็นการช่วยเพิ่มอุณหภูมิแก่รายกาย จะช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้นด้วย
- ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่นเมื่อเราป่วย
- ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องไปที่มีคนพลุกพล่าน หรือที่มีคนป่วยมากๆ เช่น โรงพยาบาล รถโดยสารสาธารณะ
- ล้างมือบ่อยๆก็จะลดโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อย่างดี
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นเช่นผ้าเช็ดหน้า อุปกรณ์การรับประทานอาหาร และใช้ช้อนกลางเมื่อทาน อาหารร่วมกัน
- พยายามไม่ตากฝนซ้ำๆ ควรจะพกร่มหรือรองเท้าบูทลุยน้ำถ้าหลีกเลี่ยงการตากฝนหรือลุยน้ำขังไม่ได้
- ดูแลรอบที่พักไม่ให้รกเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์นำโรค เช่นหนู รวมถึงไม่ให้มีแหล่งน้ำขังที่จะทำให้ยุงเพาะพันธุ์ได้
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่