‘สัญญาณ’ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หากพบ ควรพบแพทย์ทันที อันตรายถึงชีวิต

พ่อแม่พี่น้องในชุมชนรู้หรือไม่ ? ปัจจุบัน คนไทยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากที่สุด เป็นอันดับ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง โดยจากสถิติพบว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มขึ้น 21,700 ราย/ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่เราควรใส่ใจ วันนี้ คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ เลยจะมาแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เกี่ยวกับโรคดังกล่าว ให้ทุกคนได้ทราบกัน !

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร ?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการรวมตัวกันของไขมันที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น ซึ่งไขมันนี้เกิดจากคอเลสเตอรอล ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและหนาตัวขึ้น ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้

ปัจจัยเสี่ยง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอะไรบ้าง ?

  1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้: ได้แก่ อายุที่มากขึ้น โดยเพศชายมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าเพศหญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือน ในขณะที่วัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเกิดเท่ากับเพศชาย และปัจจัยด้านพันธุกรรมต่าง ๆ
  2. ปัจจัยที่ควบคุมได้: ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกินมาตรฐาน รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และความเครียด

สัญญาณ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอะไรบ้าง ?

ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก เหมือนมีของหนักมาทับในขณะพัก และอาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณแขน สะบัก ไหล่ หรือ ขากรรไกรด้านซ้ายได้ นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้  ใจสั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ หากสังเกตพบอาการดังกล่าว อย่ารอช้า ควรพบแพทย์โดยทันที !

อ้างอิง: กรมการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566)

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ