หลงลืมตามวัยหรืออาจเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อม ?

เรามักเชื่อกันว่าอาการหลงลืมของผู้สูงอายุนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่จริง ๆ แล้ว ความเชื่อดังกล่าวไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะบางทีอาการเหล่านี้อาจซ่อนความอันตรายของ “ภาวะสมองเสื่อม” เอาไว้ ซึ่งนอกจากจะขี้หลงขี้ลืมแล้ว ยังมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรม บุคลิกภาพและอารมณ์อีกด้วย

ทางคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ เราห่วงใยคนในชุมชน จึงมีบริการประเมินภาวะสมองเสื่อมให้กับคุณและคนใกล้ตัวที่กำลังไม่แน่ใจว่าอาการขี้หลงขี้ลืมของตนเองนั้น มันเกิดจากภาวะสมองเสื่อมหรือเปล่า แต่ก่อนจะเข้ามาคลินิกเพื่อประเมิน เรามาทำความรู้จักกับภาวะสมองเสื่อมให้มากขึ้น และสำรวจตัวเองกันคร่าว ๆ กันก่อนดีกว่า

ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร?

ภาวะสมองเสื่อมคือภาวะที่การทำงานของสมองในด้านความจำ ความคิด การใช้เหตุผล การใช้ภาษา และการรับรู้สิ่งแวดล้อมผิดปกติไป ทำให้เกิดปัญหาทางด้านความคิด การตัดสินใจ รวมถึงมีพฤติกรรมต่าง ๆ และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และสามารถพัฒนาความรุนแรง จนในที่สุดผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และต้องคอยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย ซึ่งภาวะนี้ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง โดยประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบก้าวกระโดด สิ่งที่ตามมาคือตัวเลขผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจากสถิติพบว่าทุก ๆ 8 คนในผู้สูงอายุ 100 คน จะป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อม และตัวเลขโดยรวมนั้นพุ่งสูงถึง 800,000 คนเลยทีเดียว

ภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากอะไร?

ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่เพียงอาการขี้หลงขี้ลืมเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ หลายภาวะ และมีทั้งแบบที่สามารถรักษาได้และแบบที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังต่อไปนี้

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่สามารถรักษาได้

  • ไทรอยด์ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ
  • การขาดวิตามินบี 12
  • การติดเชื้อในสมอง เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ ไวรัสสมองอักเสบ
  • น้ำคั่งในโพรงสมอง
  • เนื้องอกหรือเลือดออกในสมอง
  • ภาวะโพรงสมองโต
  • โรคซึมเศร้า
  • การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ

สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคพาร์กินสัน

ภาวะสมองเสื่อมมีอาการอย่างไร?

อาการที่เห็นเด่นชัดในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ อาการหลงลืมเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นาน ไม่สามารถจดจำคำพูดระหว่างการสนทนาได้ ทำให้พูดเรื่องเดิมที่พึ่งเล่าไป หรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ภายในระยะเวลาอันสั้น การทำกิจวัตรประจำวันบกพร่อง เช่น หาของไม่เจอ เก็บของผิดที่ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ การปรุงอาหารผิดปกติ ใช้รีโมทโทรทัศน์ไม่คล่อง หลงทิศทาง หลงทางในที่คุ้นเคย นึกคำพูดไม่ค่อยออก ใช้คำผิดบ่อย ๆ และนอกจากนี้อาจมีบุคลิกภาพและอารมณ์ที่ผิดแปลกไปจากเดิม เช่น เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น โมโหง่าย

วิธีการรักษาภาวะสมองเสื่อม

วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยจะมีการตรวจวินิจฉัยก่อน ดังต่อไปนี้

  1. การซักประวัติโดยละเอียด
  2. ทดสอบความจำ
  3. การตรวจเลือด
  4. การตรวจสมรรถภาพของสมองโดยละเอียด (Neuropsychology Test)
  5. การทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (Magnetic Resonance Imaging : MRI) หรือการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Positron Emission Tomography Scan : PET Scan)

ก่อนจะนำผลมาประเมินในภายหลังว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรับประทานยาหรือวิตามิน การใช้เครื่องมือช่วยกระตุ้นหรือฝึกสมองที่เริ่มเสื่อม และการผ่าตัด

วัยสูงอายุนั้นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นกับร่างกาย ยิ่งเราหรือคนใกล้ชิดมีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ โรคร้ายยิ่งคืบคลานใกล้เข้ามา อย่างไรก็ตามแม้เราจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสื่อมตามธรรมชาติได้ แต่เราก็สามารถดูแลสุขภาพของเราหรือคนใกล้ชิดให้ดีได้ เพื่อลดความรุนแรงหรือชะลอการดำเนินของโรคไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยหมั่นสังเกต เมื่อตนเองและคนใกล้ชิดมีความจำระยะสั้นไม่ดี ใช้ชีวิตประจำวันบกพร่อง หรืออารมณ์แปรปรวน หากเข้าข่าย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาที่ตรงสาเหตุและทันท่วงที

อ้างอิงจาก
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ