“ไข้เลือดออก” เป็นโรคคุ้นหูที่มียุงลายเป็นพาหะ มักจะระบาดทุกช่วงฤดูฝนของทุกปีในประเทศเขตร้อน รวมถึงประเทศไทยด้วย เนื่องจากที่ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดเป็นประจำทุกปี จึงฟังดูเป็นเรื่องปกติ เป็นเหตุให้หลายคนมองข้ามความอันตรายของโรคนี้ไป อาการของโรคไข้เลือดออกจะแตกต่างออกไปในแต่ละบุคคุล โดยอาจมีอาการผิดปกติแสดงเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที วันนี้ ทางคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ จึงอยากจะมาแบ่งปันความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกว่าเกิดจากอะไร มีอาการที่สังเกตเห็นได้อย่างไร ขั้นตอนการรักษา และวิธีการป้องกันทำได้อย่างไร มาดูกันเลย!
ไข้เลือดออก เกิดจากอะไร?
โดยทั่วไป เราจะเข้าใจกันว่าโรคไข้เลือดออกเกิดจากการถูกยุงกัด ซึ่งก็ถูกต้องแต่ยังไม่ถูกต้อง 100% เนื่องจากยุงที่กัดผู้ป่วยนั้น ไม่ใช่ยุงทุกตัว แต่ต้องเป็นยุงที่มีเชื้อไวรัส “เดงกี” อีกด้วย โดยเชื้อไวรัสตัวนี้จะเข้าไปฝังในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง และเมื่อผ่านเวลาฟักตัวประมาณ 8 – 12 วัน ไวรัสตัวนี้ก็สามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่ถูกยุงกัด แล้วทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกได้
โรคไข้เลือดออกมีอาการอย่างไร?
ไข้เลือดออกสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ขึ้นอยู่กับโอกาสที่บุคคลจะได้รับเชื้อจากการโดนยุงกัด โดยทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้:
- ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 – 7 วัน
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- มีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หน้าแดง
- มีอาการเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บที่ชายโครงด้านขวา
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเข้าสู่ภาวะ ไข้เลือดออกช็อก (Dengue Shock Syndrome) ซึ่งอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ปลายมือปลายเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ ไข้ลดอย่างรวดเร็ว เป็นต้น
หลังจากมีไข้สูง 2 – 7 วัน ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการช็อกจะเริ่มมีไข้ลดลง ระบบไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจะเริ่มหายเป็นปกติภายใน 2 – 3 วัน เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องเบาลง โดยระยะนี้มักพบผื่นแดงและอาการคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
โรคไข้เลือดออกสามารถรักษาได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออกโดยตรง ดังนั้น การแพทย์จึงยังคงมุ่งเน้นไปที่การรักษาตามอาการเพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในรายที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถหายได้เองภายในเวลาประมาณ 2 – 7 วัน โดยมีวิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ ดังนี้
- ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- เช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิ
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- รับประทานยาลดไข้ตามปริมาณที่แพทย์สั่ง
- ห้ามใช้แอสไพรินและยากลุ่ม NSAID โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าผู้ป่วยมีการอาเจียน หรือปวดท้องมาก ไข้ลดอย่างรวดเร็วจนตัวเย็นผิดปกติ ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง ถือเป็นสัญญาณอันตราย ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
สามารถป้องกัน ไข้เลือดออก ได้อย่างไร?
วิธีที่ได้ผลที่สุดก็คือการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้ามิดชิด รวมถึงป้องกันไม่ให้ยุงลายมาเพาะพันธุ์ในบริเวณบ้านโดยการปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขัง หรือเปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้เช่น แจกัน ทุกสัปดาห์ เลี้ยงปลาให้กินลูกน้ำในอ่างบัว เป็นต้น
เท่านี้ เราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และสามารถรับมือกับการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่กำลังจะมาถึงในฤดูฝนนี้ได้แล้ว อย่าลืมที่จะป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุงลายในที่พักอาศัย หมั่นสังเกตอาการ หากมีไข้สูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน หรือมีสัญญาณของภาวะไข้เลือดออกช็อก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที และอย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพทุกๆ ปี ด้วยนะ