ก้างปลาติดคอ ปัญหาเล็กที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่หากปฐมพยาบาลผิดวิธี

เนื้อปลามีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายประเภท อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการทางโภชนาการให้บริโภคแทนเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อปลาแตกต่างจากเนื้อของสัตว์ชนิดอื่นก็คือ ‘มีก้าง’ และหลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ “ก้างปลาติดคอ” ซึ่งสร้างความเจ็บปวดในขณะรับประทานอาหาร

การที่ก้างปลาติดคอนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น เกิดการติดเชื้อ เป็นหนองลามเข้าไปในคอ ลามเข้าไปในช่องอก เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาก้างปลาติดคอขึ้น หลายครอบครัวอาจมีวิธีแก้ที่แตกต่างกันไป ถึงแม้บางวิธีจะได้ผลในบางครั้ง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าวิธีการดังกล่าวจะถูกต้องและปลอดภัย วันนี้คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ จึงอยากจะมาแบ่งปันข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับอาการก้างปลาติดคอ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล และมาดูกันว่าหากมีปัญหาก้างปลาติดคอ เราควรทำอย่างไร

ก้างปลาติดคอมีอาการอย่างไร?

  • เจ็บจี๊ดเฉียบพลันบริเวณที่ถูกก้างตำ
  • กลืนน้ำลายแล้วรู้สึกเจ็บ
  • สามารถบอกตำแหน่งได้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่บริเวณใด

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้อย่างไร?

  • หากเป็นก้างปลาขนาดเล็ก ให้ดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรง ๆ ก้างจะสามารถหลุดออกเองได้
  • หากไม่หลุด ควรมาพบแพทย์ทันที เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน

ความเชื่อผิด ๆ เมื่อมีก้างปลาติดคอ

  • การปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนแล้วกลืน ทานกล้วย หรือขนมมาร์ชเมลโล เพื่อดันก้างปลาให้หลุดนั้นเป็นเท็จ เพราะก้างปลาที่มีขนาดใหญ่จะไม่สามารถหลุดได้ ยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นการดันให้ก้างปลาลงไปลึกกว่าเดิม และอาจทำให้เกิดแผลอีกด้วย
  • ดื่มน้ำมะนาว เพื่อให้ก้างปลาอ่อนนุ่มลง ถือว่าเป็นเท็จ เพราะน้ำมะนาวไม่สามารถทำให้ก้างปลาละลายและหลุดหายไปเองได้อย่างที่หลายคนเข้าใจ และหากดื่มน้ำมะนาวในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
  • การใช้นิ้วล้วงคอ ไม่ถือเป็นวิธีที่ดี เพราะอาจเป็นการดันให้ก้างปลาลงไปลึกกว่าเดิม

ดังนั้น หากประสบกับปัญหาก้างปลาติดคอ ควรใช้วิธีการดื่มน้ำแล้วกลั้วคอเพื่อให้ก้างปลาหลุดเท่านั้น ไม่ควรทำตามความเชื่อผิด ๆ อย่างการกลืนอาหารไปดันก้างปลาให้หลุด ดื่มน้ำมะนาว หรือใช้นิ้วล้วงคอ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ถ้ากลั้วคอแล้วก้างปลายังไม่หลุด ควรเค้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE: @kbkjclinic

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ