พี่น้องในชุมชนรู้หรือไม่? กิจกรรมลอยกระทง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นำไปสู่การเสียชีวิตมากถึง 60 ราย ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา วันนี้ คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจจะมาแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมถึงข้อควรปฏิบัติที่ควรทำตาม เพื่อลอยกระทงอย่างปลอดภัยให้ทุกคนได้ทราบกัน
อุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตในวันลอยกระทง ระหว่างปี 60-64
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผย กิจกรรมวันลอยกระทง อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตได้ โดยสถานการณ์การจมน้ำในช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2564) จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียว มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 60 คน เฉลี่ยปีละ 12 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงหลังวันลอยกระทงเพียง 1 วัน ของแต่ละปี พบว่ามีอัตราการจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าวันลอยกระทงถึง 1 – 2 เท่า กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45 – 59 ปี (ร้อยละ 30) เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (ร้อยละ 14) เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเกือบ 5 เท่า
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดการจมน้ำในช่วงลอยกระทงที่พบบ่อยคือ การดื่มสุรา การลงไปเก็บเงินในกระทง และการปล่อยให้เด็กลอยกระทง หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ซึ่งจากข้อมูลในระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้บาดเจ็บจากการจมน้ำและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ถึง ร้อยละ 15
กรมควบคุมโรค เตือน “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง”
นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เน้นย้ำ มาตรการสำหรับประชาชนในการป้องกันการจมน้ำในช่วงกิจกรรมลอยกระทงว่า “ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง” หมายความว่า ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ลงน้ำไปเก็บเหรียญในกระทง และผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อพาเด็กไปลอยกระทง ไม่ปล่อยเด็กให้คลาดสายตา เพราะเพียงแค่ชั่วพริบตา เด็กอาจตกน้ำได้ ทั้งนี้ หน่วยงานหรือพื้นที่จัดงาน ควรลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุจมน้ำ โดยการ:
- กำหนดพื้นที่สำหรับจัดงานลอยกระทงอย่างชัดเจน เว้นระยะห่าง มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง ป้องกันการพลัดตกน้ำ
- จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ ไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้
- สำหรับการเดินทางทางน้ำ ต้องจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง
- จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดระยะเวลาการจัดงาน
ประเพณีลอยกระทง และสิ่งแวดล้อม
แม้ว่ากิจกรรมลอยกระทง จะเป็นประเพณีอันงดงามที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อปรับเปลี่ยนการแสดงความขอบคุณต่อแม่น้ำลำธารไปตามยุคสมัย เรายังสามารถระลึกถึงพระแม่คงคาได้ โดยการไม่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำธาร และเรายังสามารถลอยกระทงออนไลน์ ทำให้เราสามารถร่วมสนุกกับกิจกรรม สร้างคอนเทนต์ โดยไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อ้างอิง: กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565)