การให้เด็กรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่ตัวเด็กอย่างยั่งยืน โดยวันนี้ คลินิกฯ ใกล้บ้านใกล้ใจ จะมาแบ่งปันข้อมูลข่าวสารดี ๆ จากกรมอนามัย เกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารในเด็ก ให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน !
กรมอนามัย แนะ ลดของทอด-ไขมันสูง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่มีการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเพิ่มขึ้น เช่น อาหารทอด มัน อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ซี่งอาหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน
เด็กอ้วนจะมีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมาก ส่งผลให้เกิดภาวะเป็นหนุ่ม-เป็นสาว ก่อนวัยอันควร เช่น เด็กชายจะมีอัณฑะขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี เด็กหญิงมีเต้านมขึ้นก่อนอายุ 8 ปี และเริ่มมีประจำเดือนก่อนอายุ 9.5 ปี อันเนื่องมาจากการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่าปกติ
เน้น ให้เด็กกินอาหารครบ 5 หมู่ ครบทั้ง 3 มื้อ
ผู้ปกครอง ควรจัดอาหารหลักให้เด็กบริโภคให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่ควรเว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย โดยผู้ปกครองสามารถจัดอาหารให้เด็ก ตามคำแนะนำดังนี้:
- อาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม
- ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็ก
- ควรจัดอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ เลือด สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ไข่วันละฟอง
- เพิ่มการบริโภคผักหลากหลายสี และผลไม้ในทุกมื้ออาหาร
- ดื่มนมรสจืดวันละ 2 แก้ว
ให้เด็กเรียนรู้ที่จะลด-เลี่ยง อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
นพ.สุวรรณชัย ยังคงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ เด็กควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มรสหวาน และอาหารไม่มีประโยชน์ และควรควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันภาวะเป็นหนุ่ม เป็นสาวก่อนวัย และการปรับพฤติกรรมดังกล่าว ยังเป็นการสร้างเสริมการรักสุขภาพและพฤติกรรมการบริโภคที่ดีอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ปกครอง ควรชวนลูกหลานทำกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน นอนหลับให้เพียงพอ 9 – 11 ชั่วโมง จะทำให้เด็กสูงดีสมส่วน สุขภาพแข็งแรง และมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพ
อ้างอิง: กรมอนามัย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2565)
อ่านเพิ่มเติม: