การจูบ เป็นอีกหนึ่งวิธีการแสดงความรักที่เป็นเรื่องปกติในต่างประเทศ และได้กลายเป็นอีกหนึ่งวิธีการแสดงความรักในสังคมไทยที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่า การจูบ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิด ฟันผุ ข่าวลือดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ วันนี้คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ มีคำตอบมาให้ทุกคนแล้ว!
กรมการแพทย์แจง ฟันผุไม่ใช่โรคติดต่อผ่านการจูบ
จากประเด็นเรื่อง ฟันผุติดต่อกันได้ผ่านการหอมหรือจูบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเผยว่า ชุดข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
โดยทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำอธิบายว่า ฟันผุ ไม่ใช่โรคติดต่อผ่านการหอมหรือจูบ เนื่องจากการที่จะเกิดฟันผุได้ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเป็นกรดของน้ำลาย การไหลของน้ำลาย สภาพของผิวฟัน และระยะเวลาการสัมผัสของเชื้อและกรดต่อผิวฟัน โดยการผุเกิดขึ้นจาก การถูกทำลายของผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันตามลำดับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาหลายเดือน
ดังนั้น การจูบ ซึ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการทำลายของผลึกเคลือบฟัน จึงอธิบายได้ว่า การจูบไม่สามารถทำให้เกิดการติดต่อของฟันผุได้
แต่การจูบ สามารถส่งต่อเชื้อโรคทางน้ำลายได้
แม้ว่าการจูบจะไม่ส่งต่อการฟันผุ แต่ว่ามีโอกาสส่งต่อเชื้อโรคอื่น ๆ ผ่านทางน้ำลายได้ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ หรือเริม นอกจากนี้ หากมีแผลในช่องปาก ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการติดต่อโรคผ่านทางเลือด เช่น โรคเอดส์ หรือซิฟิลิส ได้อีกด้วย
ดังนั้น แม้ว่าเราจะสามารถจูบได้โดยไม่ต้องกลัวฟันผุ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องระวังการติดต่อของโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจูบเพื่อแสดงความรักในชีวิตประจำวัน หรือการจูบขณะมีเพศสัมพันธ์ เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลทำความสะอาดฟัน และเลี่ยงการจูบหากมีแผลในช่องปาก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับและส่งต่อเชื้อไปให้คนที่เรารัก
อ้างอิง: ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม 65)
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE: @kbkjclinic