ลูกโป่งแก๊สหัวเราะ ‘ความเพลิดเพลิน’ ที่อาจ ‘อันตรายถึงชีวิต’

การสูดดมลูกโป่งแก๊สหัวเราะ อาจฟังดูเป็นแค่สิ่งที่ทำเพื่อสร้างความเคลิบเคลิ้มเพลิดเพลิน ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะเป็นอันตรายอะไรต่อสุขภาพขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเราสูดดมแก๊สดังกล่าวบ่อยและติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นเหตุให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ปัจจุบัน ลูกโป่งแก๊สหัวเราะกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังมีความอยากรู้อยากลองโดยไม่ทันคิดถึงผลลัพธ์ที่อาจตามมา เพื่อเป็นการสร้างตระหนักถึงผลกระทบต่อร่างกาย และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น วันนี้ทางคลินิกฯ ของเรา จะมาแบ่งปันความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับลูกโป่งแก๊สหัวเราะ ให้คนในชุมชนได้ทราบกัน

แก๊สหัวเราะในลูกโป่งคืออะไร?

แก๊สที่อยู่ในลูกโป่ง หรือที่เราเรียกกันว่า ‘แก๊สหัวเราะ’ คือแก๊สไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) ซึ่งเป็นแก๊สที่ในทางการแพทย์ใช้เป็นแก๊สดมสลบก่อนทำการผ่าตัด หรือถอนฝัน ซึ่งออกฤทธิ์และหมดฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยตามกฏหมาย แก๊สดังกล่าวถือเป็นยาที่ใช้ในโรงพยาบาล

แหล่งที่มา: CGTN

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า แก๊สไนตรัสออกไซด์ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก แก๊สจะเข้าไปแทนที่ออกซิเจนในปอดและระบบประสาทส่วนกลาง เป็นผลให้เกิดอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมระบบหายใจหรือประสานการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการหกล้มได้รับบาดเจ็บ หรือหมดสติ หากสูดดมแก๊สดังกล่าวบ่อยครั้งเป็นเวลานานเข้า จะทำให้เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย มีอาการเหน็บชาที่นิ้วมือนิ้วเท้า รับความรู้สึกไม่ได้เนื่องจากขาดวิตามินบี 12 และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้  

ในทางกฎหมาย การค้าไนตรัสออกไซด์ให้ผู้อื่น มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา ข้อหาจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากแก๊สไนตรัสออกไซด์ที่นำมาใช้เป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เพื่อช่วยสอดส่องดูแล และลดความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ในชุมชน หากพบเห็นการขายลูกโป่งแก๊สหัวเราะสามารถแจ้ง สายด่วน อย. 1556 

อ้างอิง: (ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 64)

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE: @kbkjclinic

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ