เมื่อ 14 ส.ค. 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เชื้อ เอ็มพ็อกซ์ (Mpox) หรือชื่อเดิมคือ “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว หลังมันแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและตะวันออก และนักวิทยาศาสตร์ออกมาแสดงความกังวลถึงเชื้อสายพันธุ์ย่อย ที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีอัตราเสียชีวิตสูง
สถานการณ์โรคทั่วโลก (2022-2024) มีผู้ป่วยยืนยันสะสมราว 99,176 ราย เสียชีวิตสะสม 208 ราย
สถานการณ์ฝีดาษลิง Mpox ในไทย
ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 ถึง 11 ส.ค.2567 จำนวน 827 ราย ทุกราย เป็นสายพันธุ์ Clade 2 (เคลด 2) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดในแอฟริกา ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นคนไทย 742 คน ต่างชาติ 81 คน ไม่ระบุ 4 คน เฉพาะช่วงปี 2567 ตั้งแต่ 1 ม.ค.– 3 ส.ค.2567 พบผู้ป่วยยืนยัน 140 คน พบมากในเพศชาย 97.46% และเพศหญิง 2.54%
เสียชีวิตสะสม 11 ราย โดย 100 % เป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีด้วย ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคล หมั่นสังเกตอาการตนเอง
โรคฝีดาษลิง คืออะไร
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (small pox) แต่ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าโรคฝีดาษมาก ในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) เกิดโรคระบาดในลิงที่ใช้เพื่อการศึกษาวิจัย ทำให้ได้ค้นพบโรคฝีดาษลิงดังกล่าว โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่พบในทวีปแอฟริกา โดย มีสองสายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกซึ่งอาการไม่รุนแรง และสายพันธุ์แอฟริกากลางซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10
การติดต่อโรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิงติดต่อจากสัตว์ขนาดเล็กในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมที่มาจากทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในสัตว์ฟันแทะ กระรอก และลิง การติดต่อโรค-จากสัตว์สู่คน เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผล หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก โดยปัจจุบันพบเฉพาะในสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย การติดต่อโรค-จากคนสู่คน เป็นสาเหตุของการระบาดหลักนอกทวีปแอฟริกา ตั้งแต่เดือน พค 2565 มีรายงานผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศในทวีปยุโรปจำนวนเป็นหลักร้อยราย เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับ ผื่น แผลหรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือหลังสัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้าหรือเครื่องนอนของคนป่วย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ก็ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้ เช่นกัน อีกส่วนหนึ่งของการระบาดตั้งแต่ต้นปีนี้ เข้าใจว่าเป็นการติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อที่มีผื่น ในกลุ่มชายรักชาย
อาการโรคฝีดาษลิง
ระยะฟักตัวหลังติดเชื้อก่อนเริ่มมีอาการ ปกติจะนาน 7-14 วัน แต่อาจเป็นเวลาที่กว้างขึ้นได้ถึง 5-21วัน อาการในระยะแรกคล้าย ไข้หวัดใหญ่ โดยมีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และมักพบมีต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมด้วย
หลังจากเริ่มมีไข้ได้ 1-3วัน จะเริ่มมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มขึ้นที่ใบหน้าแล้วกระจายไปที่ลำตัว แขนและขาได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง บางครั้งผื่นพบเฉพาะบริเวณร่มผ้า ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะตกสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ หลังจากผื่นหายมักจะไม่กลายเป็นแผลเป็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
นิยามโรคฝีดาษลิง
กรมควบคุมโรค ได้กำหนดนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง ว่า จะต้องมีอาการดังนี้ 1.ประวัติไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่างคือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หรือ 2.ผื่น ตุ่มนูน ส่วนใหญ่ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว โดยเริ่มจากเป็นผื่นก่อน แล้วเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด ตามลำดับ ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่ ประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิง ประวัติการเข้าร่วมกิจกรรม ที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง และประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า สัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
การตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง
ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถ้ายังไม่มีผื่นอาจจะทำการวินิจฉัยได้ยาก จำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่เป็นต้น ส่วนในกรณีที่ มีผื่นขึ้นแล้ว จำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า เช่น เริม และโรคที่ทำให้เกิดผื่นอื่นๆ เนื่องจากโรคฝีดาษลิงนั้นพบได้น้อย แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจโดยการส่องดูชิ้นเนื้อผ่านกล้องจุลทรรศน์และตรวจหาไวรัสโดยวิธี real time PCR และตรวจแอนติบอดีในเลือดซึ่งต้องทำในห้องปฏิบัติการเฉพาะ
การรักษาโรคฝีดาษลิง
โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะเฝ้าดูอาการและให้ยาบรรเทาอาการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการมักหายได้เอง สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคฝีดาษลิงนั้น ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยทั่วไปยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคไข้ทรพิษโดยหลักการใช้รักษาโรคฝีดาษลิงได้เนื่องจากเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกัน ส่วนข้อมูลประสิทธิภาพต้องอาศัยการศึกษาวิจัยในคนเพิ่มเติม
การป้องกันโรคฝีดาษลิง
วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% อย่างไรก็ตาม คนที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ส่วนคนที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษมาในอดีต ยังไม่มีข้อมูลว่า เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายทศวรรษ ระดับภูมิต้านทานที่ลดต่ำลงจะยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่อย่างไร
ในปัจจุบันไม่มีการฉีดวัคซีนดังกล่าวสำหรับบุคคลทั่วไปในประเทศไทยแล้ว โดยอาจมีการฉีดให้เฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการไวรัสฝีดาษเท่านั้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการระบาดและควบคุมการแพร่กระจายของโรค ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคโดยการ
- งดการสัมผัสคนที่อาจจะป่วยเป็นโรคฝีดาษลิง
- สวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หากจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
- ไม่สัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายด้วยโรคฝีดาษลิง
- ล้างทำความสะอาดมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ที่ป่วย
- ไม่สัมผัสวัตถุปนเปื้อนไวรัสฝีดาษลิง
- รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น