ช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครอง ควรให้การดูแลเอาใจใส่บุตรหลานในเรื่องของสุขภาพมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ มากกว่าช่วงอื่นในรอบปี วันนี้ คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจของเรา เลยจะมาแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส RSV วายร้ายที่มักแวะเวียนมาเล่นงานเด็ก ๆ ในช่วงฤดูฝน ให้กับทุกคนในชุมชน
เชื้อไวรัส RSV คืออะไร มีอาการอย่างไร ?
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ว่า เป็นเชื้อไวรัสที่มักระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว (ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนมกราคม) เด็กที่ร่างกายแข็งแรง เมื่อได้รับเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการน้อย โดยมากมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา น้ำมูกไหล ไอ จาม มีไข้ คออักเสบ แต่ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือในกลุ่มเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ ภูมิต้านทานบกพร่อง อาจมีอาการรุนแรง เป็นหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม ไข้สูง ไอมีเสมหะ หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจออกลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว ในบางรายอาจไอมากจนอาเจียน ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
เด็ก ๆ สามารถรับเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างไร ?
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เชื้อไวรัส RSV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือ ผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสผู้ป่วย หรือสารคัดหลั่งจากปาก จมูก และทางลมหายใจผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV การรักษาจึงเป็นรักษาตามอาการ ในผู้ป่วยเด็กบางรายที่มีอาการรุนแรงจนกินได้น้อย มีหลอดลมฝอยอักเสบ และปอดบวม หายใจหอบแรง ลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
แนะผู้ปกครอง ลดความเสี่ยง – หมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน
ผู้ปกครองสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ของบุตรหลานได้ โดย:
- ดูแลสุขภาพตนเอง และบุตรหลานให้แข็งแรง
- หมั่นล้างมือให้สะอาด
- แยกผู้ป่วย RSV เพื่อป้องกันการติดต่อทางการสัมผัส
- ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ
- สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ
- ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง
- ดื่มน้ำที่สะอาดในปริมาณที่ควรได้รับ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
อ้างอิง: กรมการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564)