โรคหอบหืด ป้องกัน-ลดความรุนแรงได้ หากควบคุมสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธี

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือน ผู้มีอาการของโรคหอบหืด หมั่นสังเกตอาการและดูแลตนเองเป็นพิเศษในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบ

ทำความรู้จัก โรคหอบหืดคืออะไร ?

โรคหอบหืด ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ที่มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของโรค โดยสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ทั้งในและนอกครัวเรือน เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เชื้อโรค ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรหญ้า วัชพืช ฝุ่นควัน น้ำหอม น้ำยา สารเคมี หรือสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ เป็นสิ่งที่กระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยโรคหอบหืด ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ไอ หายใจไม่สะดวก มีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนและช่วงเช้ามืด หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างถูกต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดและการหนาตัวอย่างมาก มีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร

ปัจจุบัน โรคหอบหืดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและเคร่งครัด ในขณะเดียวกัน อาการของโรคดังกล่าวก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หากถูกกระตุ้นให้เกิดการกำเริบรุนแรง และไม่ได้รับการรักษาทันทีหรือผิดวิธี หรืออาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือเสียชีวิตได้จากภาวะสมองขาดออกซิเจน

ควบคุมสาเหตุ ลดความรุนแรงของโรคหอบหืด

เราควรควบคุมสาเหตุ ตลอดจนหลีกเลี่ยงและลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจมีส่วนในการกระตุ้นอาการของโรคหอบหืด เช่น

  • หมั่นทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน ห้องทำงาน พัดลม เครื่องปรับอากาศ
  • พยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องถึง
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และออกกำลังกาย

เห็นได้ว่าโรคหอบหืดนั้น สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการ เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ลดอาการความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด และเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ตัวผู้ป่วยเอง

อ้างอิง: กรมการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565)

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ