เมนูเนื้อดิบ รสชาติที่มาพร้อมความเสี่ยงโรคพยาธิ-แบคทีเรีย

การรับประทานเนื้อวัว-ควายสด ๆ ได้กลายเป็นกระแสนิยมบนสังคมออนไลน์ ทำให้การรับประทานอาหารอย่างไม่ถูกสุขอนามัยนี้แพร่กระจายออกไป แม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างว่าการรับประทานเมนูเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมการกินที่มีมานาน แต่การทานอาหารดิบ ก็เป็นสาเหตุของการป่วยเป็นโรคพยาธิ และโรคแบคทีเรียต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

เพื่อเป็นการเสริมสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาสมแก่ทุกคนในชุมชน วันนี้ คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ เลยอยากจะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทานอาหารดิบ ตลอดจนแบ่งปันวิธีการทานอาหารอย่างถูกสุขอนามัยอีกด้วย

เมนูเนื้อดิบ เสี่ยงโรคพยาธิ ใครไม่เคยทาน อย่าหาลอง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า การทานอาหารดิบมีความเสี่ยงพบโรคพยาธิตัวตืดวัว-ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิที่เรียกว่า เม็ดสาคู ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ รูปร่างคล้ายก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ยาว  5 – 10 เมตร อาจยาวถึง 25 เมตร และมีลำตัวเป็นปล้องประมาณ 1,000 – 2,000 ปล้อง และปล้องสุกจะหลุดออกมา 3 – 4 ปล้องกับอุจจาระ หรือคลานออกจากทวารหนักในแต่ละวัน โดยมีอายุอยู่ในลำไส้คน ประมาณ 10 – 25 ปี

หากมีพยาธิในร่างกาย ผลที่ตามมาคืออะไร?

พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้ และจะทำให้เราเกิดอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งอาจมีอาการท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลงร่วมด้วย อีกทั้งปล้องสุกที่หลุดออกมาอาจเข้าไปในไส้ติ่ง และทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคพยาธิ และโรคแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ดังนี้:

  • โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้
  • เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มักมีการปนเปื้อนมากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ผู้ติดเชื้อมักมีอาการอาเจียน ท้องร่วง
  • เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่น ๆ เชื้อนี้อาจทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย
  • เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1 – 2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปน
  • เชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว-ควายที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุมากิน แล้วไปเจอวัวควายที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนปรุงอาหาร และผู้ที่กินเนื้อดิบ ๆ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

สธ.แนะ รับประทานอาหารปลอดภัย ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

  • เลือกซื้อเนื้อวัว-ควาย ที่ผ่านการตรวจจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานแล้วเท่านั้น
  • รับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20˚c เป็นเวลา 5 – 7 วันขึ้นไป
  • ผู้ประกอบอาหาร ต้องดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระ

อ้างอิง: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2565)

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ