จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทำให้ “วัคซีน” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก แต่อย่างไรก็ตาม เราอาจมีความเข้าใจต่อวัคซีนที่แตกต่างกันออกไป โดยความเข้าใจเหล่านั้นบางครั้งก็อาจจะถูกต้องและบางครั้งอาจก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ดังนั้น คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ จึงอยากจะมาร่วมแบ่งปันความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ว่าจริง ๆ แล้ว วัคซีนคืออะไร เรารับวัคซีนกันไปทำไม และมันช่วยปกป้องร่างกายของเราได้อย่างไร?
วัคซีนคืออะไร?
วัคซีนคือชีววัตถุ (แอนติเจน) ที่ผลิตมาจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่ผ่านกระบวนการให้ไม่สามารถก่อโรคได้แต่ยังคงกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี้) ได้ ดังนั้น การที่หลายคนเข้าใจกันไปว่าวัคซีนเป็นเหมือนยาที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคนั้น จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องไปเสียทีเดียว และอีกหนึ่งเรื่องน่ารู้ก็คือ วัคซีนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามการผลิต ได้แก่:
1. วัคซีนเชื้อตาย (killed vaccine)
เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้ว ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนอหิวาตกโรค วัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือผลิตจากส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อโรค ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่
2. วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine)
เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เชื้อโรคมาผ่านกระบวนการทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่ก็เพียงพอที่จะสามารถทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ได้แก่ วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนวัณโรค เป็นต้น
3. วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (toxoid)
เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยการนำพิษของจุลชีพที่เป็นส่วนสำคัญในการก่อโรคต่าง ๆ มาทำให้หมดฤทธิ์ แต่ตัวพิษเหล่านั้นจะยังสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ ได้แก่ วัคซีนคอตีบและวัคซีนบาดทะยัก
วัคซีนมีกระบวนการออกฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างไร?
วัคซีนมีกระบวนการออกฤทธิ์ 2 ขั้นตอน โดยขั้นแรก (Primary Response) จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับวัคซีน ระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองโดยสร้างแอนติบอดี และขั้นสอง (Secondary Response) ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากวันที่รับวัคซีน 1 – 30 วันหรือมากกว่า และเมื่อร่างกายได้รับแอนติเจนชนิดเดิมอีกครั้ง จะเกิดการกระตุ้นการตอบสนองของร่างกายรวดเร็วกว่าครั้งแรก แอนติบอดีจะอยู่ได้นานและมีประสิทธิภาพมากกว่า และกลายเป็นภูมิคุ้มกัน อย่างที่เราเข้าใจกันนั่นเอง
ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน (Herd Immunity)
อีกหนึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือ นอกจากช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนแล้ว การให้วัคซีนยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคถึงในชุมชนได้ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการที่มีจำนวนประชากรในชุมชนมากพอที่จะทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้เป็นโรค และแพร่การะจายโรคสู่บุคคลอื่นได้อีกนั่นเอง
เพียงเท่านี้ ทุกคนก็จะได้รู้ถึงกระบวนการทำงานของวัคซีนที่เราฉีดกันตั้งแต่เด็ก ๆ รวมถึงประโยชน์ที่แท้จริงของมันกันแล้ว เราจะเห็นว่า การรับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดทั่วไปอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคระบาดทั่วโลกอย่างโควิด-19 ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอาการหากได้รับเชื้อในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม: