เครื่องดื่มรสหวาน ไม่ว่าจะเป็นนม น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นของโปรดที่เด็ก ๆ ชอบดื่ม อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มที่มีความหวานมาก ๆ ก็มาพร้อมกับการบริโภคน้ำตาลที่สูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว
วันนี้ คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ จะมาแบ่งปันเนื้อหาสาระดี ๆ เกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานในเด็กและเยาวชน และวิธีการที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว และโรงเรียนสามารถทำได้ เพื่อช่วยกันควบคุมพฤติกรรมการบริโภคของบุตรหลาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี
ข้อมูลการบริโภคเครื่องดื่มชง ปี 64 โดยกรมอนามัย
เมื่อแยกตามกลุ่มอายุ และความถี่ในการดื่ม พบว่า เด็กไทย ช่วงอายุ 6 – 14 ปี ร้อยละ 25 และช่วงอายุ 15 – 24 ปี ร้อยละ 24.9 ดื่ม 1 – 2 วัน/สัปดาห์ แนะโรงเรียน โรงอาหาร ร้านค้า จำหน่ายเครื่องดื่ม ที่มีรสชาติหวานน้อย หรือชนิดน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสุขภาพของเด็ก
นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า จากผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนอายุ 6 ปี ขึ้นไป เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มชง ได้แก่ ชา กาแฟ น้ำหวาน ชานม เป็นต้น พบว่า เด็กไทยมีแนวโน้มติดรสหวาน โดยในเด็กอายุ 6 – 14 ปี ร้อยละ 25 และวัยรุ่นถึงวัยอุดมศึกษา (อายุ 15 – 24 ปี) ร้อยละ 24.9 ดื่มเครื่องดื่มชง จำนวน 1 – 2 วัน/สัปดาห์
โดยการดื่มเครื่องดื่มชง มักจะมีการเติมน้ำตาลปริมาณมากเพื่อชูรสชาติ หากดื่มบ่อย หรือดื่มเป็นประจำ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมการบริโภคติดรสหวาน ส่วนน้ำตาลเมื่อกินเข้าไปจะเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย ซึ่งหากได้รับมากเกินไป จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และเกิดภาวะอ้วนหรือโรคอ้วน
ทุกภาคส่วนควรจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาลในเด็ก
นพ.เอกชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า เพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปิดเทอม นักเรียนส่วนใหญ่ต้องกินอาหารและเครื่องดื่มจากโรงอาหาร และร้านค้าภายในโรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนจึงควรใส่ใจเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพสำหรับเด็ก เลือกปรุงเมนูอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม มีร้านจำหน่ายผลไม้สดพร้อมกิน เลือกจำหน่ายเครื่องดื่มแบบที่ไม่เติมน้ำตาล หรือเครื่องดื่มหวานน้อยที่เติมน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หากน้ำตาลเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าหวานจัด ควรต้องหลีกเลี่ยง โดยอ่านที่ฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนนำมาจำหน่าย
ผู้ปกครอง และครู ควรปลูกฝังเรื่องการบริโภคที่ดีแก่เด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ ผู้ปกครอง รวมถึงครู ควรปลูกฝังให้เด็กเลี่ยงกินหวาน ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นตัวอย่างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ควรส่งเสริมให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินผักและผลไม้ เลือกเครื่องดื่มชงรสหวานน้อย หรือชนิดน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์ เลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม พยายามควบคุมให้เด็กกินน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน หากเด็กต้องการดื่มน้ำหวาน ช่วงเริ่มต้นควรลดขนาดหรือความถี่การดื่มเครื่องชงรสหวานลง หรือเลือกดื่มน้ำผลไม้สด ไม่เติมน้ำตาลแทน อย่างไรก็ตาม น้ำเปล่ายังคงเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน เพื่อส่งเสริมให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง: กรมอนามัย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2565)