โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชใกล้ตัวที่เราวินิจฉัยด้วยตัวเองได้

ในอดีต “โรคซึมเศร้า” อาจเคยเป็นชื่อโรคที่ไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพียงภาวะอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความเครียดเท่านั้น โดยภาวะความเครียดนี้ มักตามมาด้วยคำถามยอดฮิต เช่น ทำงานหนักไปหรือเปล่า? เรียนมากไปหรือเปล่า? คิดมากไปหรือเปล่า? และสุดท้ายพอคำถามเหล่านี้ถูกตอบด้วยคำว่า “น่าจะ” “เป็นไปได้” หรืออะไรก็ตาม โรคนี้ก็จะถูกกวาดซ่อนไว้เป็นปัญหาใต้พรมในจิตใจ และจะกลายเป็นปัญหาที่สังเกตได้จริง ๆ ก็ต่อเมื่อมันอันตรายเสียแล้ว

ทางคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ เราเป็นห่วงคนในชุมชน จึงมีบริการประเมินภาวะซึมเศร้าให้กับทุกคนที่กำลังไม่แน่ใจว่าความเครียด ความกังวล หรือความรู้สึก “ดิ่ง ๆ” ที่กำลังประสบอยู่ตอนนี้ มันเกิดมาจากโรคซึมเศร้าหรือไม่ แต่ก่อนที่เราจะแวะมาที่ทางคลินิกเพื่อรับการประเมิน เราสามารถรู้จักโรคซึมเศร้ามากขึ้น และเรียนรู้วิธีการวินิจฉัยอาการของโรคด้วยตัวเองได้ ดังต่อไปนี้

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย นั่นแปลได้ง่าย ๆ ว่า โรคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดมาจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถรักษาหายได้สนิทโดยการทำจิตใจให้ผ่อนคลายนั่นเอง และนอกจากผลกระทบต่อสภาพจิตใจโดยทั่วไป ความเครียดจากโรคนี้อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้การตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยจากสถิติพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ในปี 2561 อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่ามากขึ้นจนสังเกตได้

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากอะไร?

โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากการเครียดจากสิ่งต่าง ๆ มากไปอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกัน โดยทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลกันของสารสื่อประสาท 3 ชนิด ได้แก่ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ซึ่งความไม่สมดุลดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลและรักษาโดยจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร?

อาการของโรคซึมเศร้ามีหลากหลายขึ้นกับบุคคล ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการที่เกี่ยวกับอารมณ์โดยทั่วไป ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว อ่อนไหวง่าย ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ดูถูกตนเอง วิตกกังวล เครียด อาจเป็นอาการที่ส่งผลจากจิตใจมาสู่ร่างกาย อย่างเช่น นั่งไม่ติด สมาธิลดลง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง ขาดความมั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจแย่ลง รู้สึกหมดหวัง และมีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

9 ข้อเข้าข่าย “โรคซึมเศร้า” ที่เราสังเกตได้

ภาวะอาการของการเป็นโรคซึมเศร้าอาจจะแตกต่างออกไปตามบุคคล ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถสังเกตอาการที่เข้าข่ายหรืออาจบ่งบอกภาวะการเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมาก ๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุก ๆ เรื่อง
8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าตามขั้นตอน

การรักษาโรคซึมเศร้าของผู้ป่วยแต่ละคนมีลักษณะที่อาจแตกต่างกันออกไปตามการแสดงอาการและระดับความรุนแรงของแต่ละบุคคล โดยเบื้องต้น แพทย์จะทำการวินัจฉัยก่อนว่าผู้ป่วยเข้าข่ายอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยเริ่มจากการสอบอาการทั่วไป อย่างเช่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นและระดับความรุนแรง การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กำลังใช้เพื่อรักษาอาการหรือโรคส่วนตัวอื่น ๆ รวมไปถึงข้อมูลปัจจัยภายนอกอย่างอื่น เช่น ประวัติครอบครัว โดยการประเมินดังกล่าว ซึ่งเป็นการประเมินอาการที่สังเกตได้ จะถูกทำไปพร้อมกับแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนจะนำผลมาประเมินในภายหลังว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด อย่างเช่น การรักษาด้วยการใช้ยา หรือการรักษาด้วยการใช้จิตบำบัด

จากสถิติซึ่งเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้บวกกับภาวะที่คนรอบตัวในสังคมเข้าข่ายของการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคนี้มันเข้าใกล้เรามากขึ้นกว่าที่เคย ดังนั้น เมื่อมีอาการเครียด รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีสมาธิ หรือมีภาวะที่คิดอยากฆ่าตัวตาย ให้เริ่มต้นจากการวินิจฉัยตนเอง หากมีความเป็นไปได้ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาหรือรักษาให้ทันท่วงที 

#โรคซึมเศร้า #คลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจ

อ้างอิงจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข

ใกล้บ้านใกล้ใจ ห่วงใยใกล้ชิดชุมชน

กดแชร์บทความ

ดูบทความอื่นๆ